การศึกษาอิสระ - วิทยานิพนธ์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ
71 ในระบบ อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าแรงงานทุกคนจะได้รับโอกาสในการเข้าสู่การเป็นแรงงานในระบบได้ ดังนั้นแล้ว เพื่อให้แรงงานนอกระบบทุกประเภทสามารถได้รับสวัสดิการอย่างเท่าเทียมกัน จึงต้องมี หน่วยงานที่เข้ามาดูแลแรงงานนอกระบบอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อดูแล ส่งเสริมการประกอบอาชีพ รวมถึงรักษาสิทธิที่แรงงานนอกระบบควรจะได้รับ เช่นเดียวกับแรงงานในระบบที่มีพระราชบัญญัติ ประกันสังคม พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน รวมถึงการสร้างการอำนาจการเรียกร้อง และต่อรอง ของแรงงานนอกระบบให้มีน้ำหนักมากพอที่จะทำให้หน่วยงานภาครัฐหันมาสนใจ ดังนั้นจึงจำเป็น จะต้องอาศัยการรวมกลุ่มอย่างมีรูปแบบ เพื่อให้หน่วยงานทางภาครัฐเล็งเห็นถึงความสำคัญที่กระทบ ต่อกลุ่มแรงงานนอกระบบ และสามารถให้การส่งเสริมช่วยเหลือได้อย่างเป็นรูปธรรม 4.2 การพัฒนากฎหมายเกี่ยวกับการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของแรงงานนอกระบบ 4.2.1 สิทธิสวัสดิการของแรงงานในระบบและแรงงานนอกระบบ กลุ่มแรงงานในระบบและแรงงานนอกระบบ ถือได้ว่าทั้งสองระบบเป็นกลไกสำคัญของ ประเทศที่ขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจและสังคมไม่แตกต่างกัน แต่หน่วยงานภาครัฐให้ความสำคัญกับ กลุ่มแรงงานในระบบมากกว่า เห็นได้จากพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 ให้สิทธิประโยชน์ ด้านต่างๆ อันเป็นปัจจัยขั้นพื้นฐานในการดำรงชีพ โดยให้ผู้ใช้แรงงานสามารถเลือกสมัครเป็น ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40 แล้วแต่กรณี กล่าวคือ กรณีผู้ประกันตนมาตรา 33 ให้สถานประกอบการซึ่งมีลูกจ้างตั้งแต่ 1 คนขึ้นไป และ ลูกจ้างนั้นมีอายุตั้งแต่ 15 ปีบริบูรณ์ แต่ไม่เกิน 60 ปี นายจ้างมีหน้าที่จัดให้ลูกจ้างทำประกันสังคม โดยหักรายได้ส่วนหนึ่งของลูกจ้างและนายจ้างจ่ายสมทบอีกส่วนหนึ่ง ตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด โดยอัตราเงินสมทบที่นําส่งให้กองทุนต่อเดือน คิดจากฐานเงินเดือนของลูกจ้างที่สมัครเข้าเป็น ผู้ประกันตน ขั้นต่ำสุดที่อัตรา 1,650 บาท และสูงสุดที่อัตราไม่เกิน 15,000 บาท โดยคิดร้อยละ 5 ของฐานเงินเดือนที่ผู้ประกันตนนั้นๆ ได้รับแต่ละเดือน กำหนดให้ลูกจ้างคือผู้ประกันตนและนายจ้าง ออกเงินสมทบฝ่ายละเท่าๆ กัน ในประโยชน์ทดแทนทั้ง 7 กรณี ส่วนฝ่ายรัฐบาลให้ออกเงินสมทบเข้า กองทุนเท่ากับผู้ประกันตนและนายจ้างใน 4 กรณีแรก คือ ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ทุพพลภาพ ตายและคลอดบุตร ส่วน 3 กรณีหลังคือ สงเคราะห์บุตร ชราภาพและว่างงาน จะสมทบน้อยกว่า 4 กรณีแรกตามที่กฎหมายกำหนด ส่วนผู้ประกันตนมาตรา 39 ให้สิทธิกับผู้ที่เคยเป็นผู้ประกันตนตามมาตร 33 มาแล้ว ต่อมาขาดสิ้นสภาพการเป็นลูกจ้าง หากผู้ประกันตนนั้นเคยจ่ายเงินสมทบมาแล้วไม่น้อยกว่า 12 เดือน และประสงค์จะเป็นผู้ประกันตนต่อไปให้แจ้งความประสงค์นั้นแก่สำนักงานประกันสังคมภายใน 6 เดือน นับแต่สิ้นสุดการเป็นลูกจ้าง และให้ส่งเงินสมทบตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดโดยลำพังตนเอง
Made with FlippingBook
RkJQdWJsaXNoZXIy Mzk3MzI3