การศึกษาอิสระ - วิทยานิพนธ์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ

60 ฟื้นความสัมพันธ์ขึ้นมาใหม่ พฤติกรรมในอดีตที่นำไปสู่ความสัมพันธ์ที่เสื่อมทรามจำต้องสร้างให้เกิด การฟื้นคืนดีขึ้นมาใหม่ ซึ่งอาจจะต้องสร้างความไว้วางใจให้เกิดขึ้น 5) ความขัดแย้งด้านค่านิยม (Values conflict) เป็นปัญหาระบบของความเชื่อ ความแตกต่างในค่านิยม ขนบธรรมเนียม ประวัติ การเลี้ยงดู ความเชื่อ ซึ่งที่อยู่คนละวัฒนธรรมหรือ ศาสนา ประวัติศาสตร์ของแต่ละประเทศ หรือชุมชนก็อาจก่อให้เกิดความขัดแย้ง ถ้าทุกคน มองแต่อดีตที่ไม่สามารถเปลี่ยนได้ หรือประวัติศาสตร์ที่เขียนขึ้นมาแตกต่างกัน การแยกแยะความขัดแย้งออกไปแต่ละชนิดช่วยให้เห็นความชัดเจนของความขัดแย้ง ว่ามีองค์ประกอบอะไรบ้าง เพื่อนำไปสู่การแก้ไขให้ถูกต้อง แต่ไม่ได้หมายความว่าความขัดแย้งต่าง ๆ จะมีเฉพาะชนิดใดชนิดหนึ่ง แต่จะผสมผสานกันอยู่เกือบทุกชนิด หรือมีทุกชนิดในเรื่องเดียวกัน แตกต่างกันในความรุนแรงของแต่ละประเภท 2.6.3 การจัดการความขัดแย้ง อาจแบ่งได้เป็น 5 แนวทาง ดังนี้ 1) การแข่งขันหรือวิธีของฉัน (Competing หรือ My way) เป็นความพยายาม ที่จะหาทางเอาชนะกัน เพื่อจะผลักดันให้บรรลุเป้าประสงค์ของเราหรือของฉันเท่านั้น มักจะเป็น วิธีการของผู้มีอำนาจที่จะใช้อำนาจโดยทุกวิถีทาง โดยไม่คำนึงถึงผู้อื่น แต่อาจจะไม่ใช้ทางเลือก ที่ดีที่สุด 2) การหลีกเลี่ยงหรือยอมถอย (Avoiding หรือ No way) เป็นวิธีการที่พยายาม หลีกเลี่ยงปัญหาหรือยอมถอย ซึ่งอาจพบในสังคมไทยและสังคมเอเชีย รวมถึงประเทศกลุ่มละติน อเมริกันที่เป็นสังคมพวกกลุ่มนิยม (Collectivist) จะนิยมใช้วิธีนี้ ลักษณะนี้มองว่าเป็นการพยายาม รักษาความสัมพันธ์ ไม่พยายามจะเผชิญหน้าเจรจากัน ซึ่งอาจไม่ได้ทำให้ความขัดแย้งหมดไป 3) การประนีประนอมหรือแบ่งคนละครึ่ง (Compromising หรือ Half way) เป็นวิธีการ ประสานความร่วมมือ ด้วยวิธีการแบ่งครึ่ง ทำให้ผู้ตัดสินหรือผู้พูดรู้สึกสบายใจว่ายุติธรรมที่สุดแล้ว แต่อาจจะยุติธรรมหรือไม่ก็ได้ 4) การยอมตามหรือแล้วแต่ผู้ใหญ่ (Accommodating หรือ Your way) เป็นอีกหนึ่งวิธี ที่สังคมชอบปฏิบัติในการรักษาความสัมพันธ์ ยอมรับเชื่อฟังคำตัดสินหรือคำสั่ง ซึ่งบางครั้ง อาจยอมตามไปเนื่องจากไม่อยากให้เกิดปัญหา ผลจึงออกมาไม่ยั่งยืน มักเกิดขึ้นโดยการเกลี้ยกล่อม 5) การร่วมมือกันหรือวิธีการของเรา (Collaborating หรือ Our way) เป็นการ ที่คู่เจรจาพยายามร่วมกันที่จะให้บรรลุวัตถุประสงค์ ความต้องการ ความห่วงกังวล ของทั้งตัวเราและ คู่เจรจา เป็นการประสานผลประโยชน์ออกมาที่ทั้งสองฝ่ายหรือหลายฝ่ายพึงพอใจ การไกล่เกลี่ย โดยใช้วิธีการร่วมมือเช่นนี้ ก็จะอาศัยวิธีการเจรจาโดยยึดจุดสนใจหรือประสานผลประโยชน์ ของทุกฝ่าย (Interest-based negotiation) ผลออกมาเป็น ชนะ-ชนะ (Win-win) กรณีความขัดแย้งที่เกิดจากสิทธิในการเข้าถึงทรัพยากรประมงซึ่งมีลักษณะแตกต่างจาก ทรัพยากรอื่น สามารถเคลื่อนย้ายตามพื้นที่ต่าง ๆ ได้ตามฤดูกาล ชาวประมงสามารถครอบครอง ทรัพยากรได้หลายวิธีการ โดยไม่มีการครอบครองแบบเบ็ดเสร็จ ดังนั้น เมื่อมีการเข้าไปควบคุม การเข้าถึงทรัพยากรประมงของชาวประมง ความขัดแย้งจึงเป็นต้นเหตุนำไปสู่การหายุทธวิธีรูปแบบ วิธีการต่าง ๆ ของกลุ่มคนที่ถูกจำกัดการเข้าถึง เพื่อต่อสู้ต่อรองในการเข้าใช้ประโยชน์จากทรัพยากร ทั้งการรวมกลุ่มปิดอ่าว ลักลอบจับปลาในเขตหวงห้าม (กฤตภาส ศรีระษา, 2556)

RkJQdWJsaXNoZXIy Mzk3MzI3