2566-1 นางสาวพัชราภรณ์ เรืองเพ็ง-การค้นคว้าอิสระ
9 2.1.2 ความแตกต่างระหว่างการเรี่ยไรกับการขอทาน “ขอทาน” ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 หมายถึง ขอเงินหรือ สิ่งของเลี้ยงชีวิต, หากินทางขอสิ่งที่ผู้อื่นให้ ส่วนพระราชบัญญัติควบคุมการขอทาน พ.ศ. 2559 ได้ให้ความหมายคำว่าขอทานไว้ใน มาตรา 13 โดยบัญญัติไว้ว่า “ห้ามบุคคลใดทำการขอทาน การกระทำอย่างหนึ่งอย่างใดดังต่อไปนี้ ให้ถือว่าเป็นการขอทาน (1) การขอเงินหรือทรัพย์สินจากผู้อื่นเพื่อเลี้ยงชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการขอด้วย วาจา ข้อความ หรือการแสดงกิริยาอาการใด (2) การกระทำด้วยวิธีการใดให้ผู้อื่นเกิดความสงสารและ ส่งมอบเงินหรือทรัพย์สินให้” เนื่องจากการเรี่ยไรและการขอทานในปัจจุบันจะใช้คำว่า “ขอรับบริจาค” เช่นเดียวกัน แต่จะแตกต่างกันที่จุดประสงค์ของการขอ เพราะการเรี่ยไรเป็นการเรียกร้องหรือขอรับความ ช่วยเหลือเป็นตัวเงินหรือทรัพย์สินจากผู้อื่น โดยมีจุดประสงค์จะนำเงินหรือทรัพย์สินที่ได้นั้นไปใช้เพื่อ การอย่างใดอย่างหนึ่งต่อบุคคลหรือสัตว์อื่น ส่วนการขอทานนั้นเป็นการขอเงินหรือสิ่งของ โดยมี จุดประสงค์เพื่อเลี้ยงชีพของตนหรือครอบครัว ดังนั้น ประเภทของการขอรับบริจาคหรือการเรี่ยไรอาจแบ่งตามวัตถุประสงค์ของการขอ ได้ 2 ประเภท คือ 1) การขอรับบริจาคหรือการเรี่ยไร ซึ่งมีความหมายเดียวกัน คือ การเรียกร้องหรือ ขอรับความช่วยเหลือเป็นตัวเงินหรือทรัพย์สิน ตามความสมัครใจจากบุคคลใดบุคคลหนึ่งหรือคณะ บุคคล โดยมีวัตถุประสงค์จะนำเงินหรือทรัพย์สินที่ได้นั้นไปใช้เพื่อการอย่างใดอย่างหนึ่งต่อบุคคลหรือ สัตว์อื่น และ 2) การขอทานที่ใช้คำว่า “ขอรับบริจาค” เช่นเดียวกัน แต่จะแตกต่างกันที่จุดประสงค์ ของการขอทานนั้นเป็นการขอเงินหรือสิ่งของ โดยมีจุดประสงค์เพื่อเลี้ยงชีวิตของตนเองหรือครอบครัว ตนเองเท่านั้น 2.1.3 กลุ่มผลประโยชน์และพฤติกรรมการช่วยเหลือ การขอรับบริจาคนั้น เกิดจากแนวความคิดเกี่ยวกับกลุ่มผลประโยชน์ การรวมกลุ่มเพื่อ ดำเนินการขอรับบริจาคหรือการเรี่ยไร อันมีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือเพื่อการกุศล ในสังคมไทยเกิดขึ้นภายหลังเหตุการณ์ เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 เนื่องจากการเปลี่ยนแปลง ทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง การปกครองภายในประเทศรวมถึงการเปลี่ยนแปลงจากภายนอก ประเทศที่ส่งผลกระทบต่อประเทศไทย ทำให้กลุ่มผลประโยชน์ในประเทศไทยเริ่มได้รับการยอมรับว่า มีความสำคัญและมีบทบาทสูงในสังคม การเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ เพราะเป็นห้วงเวลาที่ ทางการเมืองเปิดกว้างให้กลุ่มผลประโยชน์องค์กรของประชาชนได้แสดงบทบาท ประกอบกับรัฐบาลมี นโยบายส่งเสริมให้มีการจัดตั้งกลุ่มอาชีพต่าง ๆ ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจะควบคุมกิจกรรมของ กลุ่มต่าง ๆ ในสังคมให้เป็นไปตามที่รัฐบาลกำหนด ซึ่งมีกลุ่มในเมืองและชนบท กลุ่มต่าง ๆ เหล่านี้ เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศร่วมกับรัฐบาลด้วย (สุวิมล กลิ่นแจ่ม, 2559)
Made with FlippingBook
RkJQdWJsaXNoZXIy Mzk3MzI3