2566-3 -สรวิชญ์ ตะเอ -วิทยานิพนธ์
90 การลงโทษ เพื่อยกระดับมาตรฐานของการประกอบอาชีพให้มีความน่าเชื่อถือและเป็นที่ยอมรับจาก ประชาชน แม้จะเป็นการเพิ่มขั้นตอนและภาระให้กับผู้ประกอบอาชีพนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ แต่ เพื่อให้ผู้บริโภคได้รับความคุ้มครองและเป็นธรรมจากการใช้บริการของผู้ประกอบอาชีพนี้ จึง จำเป็นต้องออกมาตรการในการควบคุมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ ดังนั้น ผู้วิจัยจึงเห็นด้วยกับแนวทางที่สอง ในการประกอบอาชีพนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ ควรมีการตรากฎหมายเฉพาะเหมือนดังเช่นนายหน้าประกันชีวิต นายหน้าวินาศภัย และนายหน้า หลักทรัพย์ เพราะนายหน้าอสังหาริมทรัพย์เป็นอาชีพที่ต้องมีความน่าเชื่อถือและความไว้วางใจต่อ ผู้บริโภคเป็นอย่างมาก ลักษณะงานของนายหน้าอสังหาริมทรัพย์นั้นมักเป็นการพูดคุยเจรจาต่อรอง เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ของผู้ซื้อและผู้ขาย เมื่อทั้งสองฝ่ายเป็นที่พอใจ นายหน้านั้นก็จะได้รับ ค่าตอบแทน ซึ่งเป็นอาชีพที่ลงทุนน้อยแต่ได้ผลตอบแทนสูง ทำให้เกิดแรงจูงใจในการแสวงหา ผลประโยชน์โดยมิชอบ หากไม่มีการตรากฎหมายหรือมาตรการในการควบคุมเพื่อคัดกรองนายหน้า อสังหาริมทรัพย์ที่มีความรู้ ความสามารถ มีความซื่อสัตย์สุจริต ก็จะทำให้ผู้บริโภคต้องเผชิญกับความ เสี่ยงจากการถูกนายหน้าอสังหาริมทรัพย์หลอกลวง แม้จะมีการจัดตั้งสมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ไทยและได้มีการออกข้อบังคับสมาคม นายหน้าอสังหาริมทรัพย์ไทยและบันทึกข้อตกลงร่วมสมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ไทยว่าด้วย จรรยาบรรณนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2544 ให้ผู้เป็นสมาชิกดำเนินการ หากนายหน้า อสังหาริมทรัพย์ที่เป็นสมาชิกฝ่าฝืนข้อบังคับหรือจรรยาบรรณดังกล่าวก็จะถูกขับไล่ออกจากสมาคม มี ผลเพียงสมาชิกของสมาคมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์และการขาดสิทธิประโยชน์บางประการเท่านั้น แต่นายหน้าอสังหาริมทรัพย์นั้นยังสามารถประกอบอาชีพนี้ต่อไปได้ ทำให้อาจก่อความเสียหายใหม่อีก นอกจากนี้ นายหน้าอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกของทางสมาคม เมื่อกระทำความผิดใดๆ ทาง สมาคมไม่มีสิทธิประกาศให้ประชาชนรับรู้ได้ เพราะนายหน้าดังกล่าวไม่ได้เข้ามาอยู่ในระบบสมาชิก ของทางสมาคมนายหน้า ดังนั้นการตรากฎหมายหรือมาตรการควบคุมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ไทย จะทำให้ผู้บริโภคได้รับความคุ้มครองและเป็นธรรมมากกว่าการที่ไม่มีกฎหมายหรือมาตรการควบคุม นายหน้าอสังหาริมทรัพย์ เมื่อวิเคราะห์เปรียบเทียบกฎหมายต่างประเทศที่เกี่ยวข้องนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ พบว่าหลายประเทศได้มีการตรากฎหมายควบคุมนายหน้าอสังหาริมทรัพย์โดยตรงเพื่อเป็นการ คุ้มครองนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ด้วยกันเองในการดำเนินงานและจริยธรรมต่ออาชีพ อีกทั้งผู้บริโภค ก็ได้รับความเชื่อมั่นและไว้ใจในการใช้บริการผ่านนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ โดยกฎหมายควบคุม นายหน้าอสังหาริมทรัพย์ของเครือรัฐออสเตรเลียในรัฐวิคตอเรีย สาธารณรัฐสิงคโปร์ สาธารณรัฐ ฟิลิปปินส์และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ล้วนเป็นการตรากฎหมายในระดับพระราชบัญญัติที่มี การกำหนดคุณสมบัติ มีการจัดตั้งองค์กรในการควบคุมดูแล มีการกำหนดโทษของผู้ที่ฝ่าฝืนและ
Made with FlippingBook
RkJQdWJsaXNoZXIy Mzk3MzI3